ประวัติกองพลทหารราบที่ 4

ประวัติกองพลทหารราบที่ 4



      ใน พ.ศ. 2419 - 2430 ในสมัยรัชการที่ 5 พลตรีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้รับคำสั่ง ให้คุมทัพจากกรุงเทพฯสมทบกับทหาร ในส่วนภูมิภาคตามเส้นทาง ที่ผ่านไปเส้นทางเคลื่อนทัพ ในสมัยนั้น ใช้เส้นทางเรือจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาจนถึงอำเภอพิชัยจังหวัด อุตรดิตถ์ เดินทางเท้าต่อไป เมื่อเสร็จจากการปราบฮ่อแล้ว ไม่ได้ยกทัพกลับกรุงเทพ ฯ ทั้งหมด แต่ให้เหลือบางส่วนไว้ เพื่อรักษาความสงบทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่ของทหารที่เหลือไว้ เป็นพวกทหารอาสาสมัครตามภูมิภาคต่าง ๆ และ ทหารพวกนี้เป็นรุ่นแรกของกองพลที่ 4
          ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2484 ในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา พันเอกหลวงหาญสงคราม ผบ.มณฑลทหารบกที่ 4 ได้รับคำสั่งให้จัดตั้งกำลังในรูปกองพลชื่อ " กองพลที่ 4 " ที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับมอบหน้าที่ให้ทำการเข้าไปยึดพื้นที่ ในเขตรัฐฉานในประเทศพม่า ผลการปฏิบัติสามารถยึดได้ เมืองโก เมืองเสน เมืองพยาค เมืองเชียงแสน เมืองยอง เมืองยู้ เมืองเสี้ยว และพื้นที่บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำหลวยได้สำเร็จ
           เมื่อ พ.ศ. 2499 ย้ายที่ตั้งจากจังหวัดนครสวรรค์ มาที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นหน่วยขึ้นตรงของ ทบ.
           เมื่อ พ.ศ. 2501 กองพลที่ 4 ขึ้นตรงกับภาคทหารบกที่ 3 ต่อมาเปลี่ยนเป็น กองทัพภาคที่ 3
           เมื่อ 16 ก.ย.2526 เปลี่ยนนามหน่วยจากเดิมมาเป็น “ กองพลทหารราบที่ 4 ”
กำเนิดหน่วย
           เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2446 มีหน่วยทหารอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย 3 กองพล คือ กองพลที่ 6 ตั้งหน่วยที่นครสวรรค์ กองพลที่ 7 ตั้งหน่วยที่พิษณุโลก และ กองพลที่ 8 ตั้งหน่วยที่เชียงใหม่ แต่ละกองพลขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงกลาโหม (พระยาสีหราชเดโช) กองพลที่ 6 ตั้งอยู่ที่นครสวรรค์ฝั่งตะวันตก ของค่ายจิรประวัติในปัจจุบัน กองพลนี้ประกอบ ไปด้วยกำลัง กรมทหารราบที่ 6 (นครสวรรค์) , กรมทหารราบที่ 16 (ชัยนาท), กรมทหาร ปืนใหญ่ ที่ 6 (นครสวรรค์) และกรมทหารพราน (ตาก) โดยมีพลตรีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า คำรพ เป็นผู้บังคับการกองพลที่ 6 กองพลที่ 7 (พิษณุโลก) ประกอบด้วยกรมทหารราบที่ 7 (พิษณุโลก) กรมทหารราบที่ 17 (พิจิตร) กรมทหารปืนใหญ่ที่ 17 (พิษณุโลก) และกรมทหาร พรานที่ 7 (น่าน) กองพลที่ 8 (ลำปาง) กรมทหารราบที่ 18 (เชียงใหม่) กรมทหารปืนใหญ่ที่ 8 (เชียงใหม่) และ กรมทหารพรานที่ 8 (เชียงราย)

วิวัฒนาการของหน่วย
           ในปี พ.ศ. 2464 อันเป็นปีที่เข้าใจกันว่า เป็นปีแรกที่กองทัพได้เกิดมีชื่อและได้ชื่อว่า กองทัพที่ 3 ตั้งกองบัญชาการที่จังหวัดพิษณุโลก พล.ท.หม่อมเจ้าอลงกต เป็นแม่ทัพกองทัพนี้ ขึ้นกับกระทรวงกลาโหม โดยมีหน่วยขึ้นตรงคือ กองพลที่ 6 กองพลที่ 7 และกองพลที่ 8 โดยตอนนั้นมีเปลี่ยนแปลงการจัดอยู่บ้าง เช่น ในตอนแรก มีทหารช่าง และทหารสัมภาระขึ้นกับ กองพล ในระยะหลังถูกยุบไปมีการโยกย้ายหน่วยทหารบางจังหวัด เช่น ร.16 จากชัยนาท มาที่นครสวรรค์ ร.17 จากพิจิตร มาที่พิษณุโลก
           ปี พ.ศ.2472 กองทัพที่ 3 ตั้งที่พิษณุโลกย้ายไปตั้งที่อยุธยาเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพที่ 2 พล.ท.พระยาสีหราชฤทธิไกร เป็นแม่ทัพ ีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการดุลยภาพ ข้าราชการ และเปลี่ยนจากการจัดกรมเป็นกองพัน ยุบ พล. 7,พล. 8 เหลือแต่ พล. 6 ตั้งที่ นครสวรรค์ โดยมี พล.ต.พระยาเสนาสงคราม เป็น ผบ.พล. มีหน่วยขึ้นตรงคือ กรม 7, กรม 17, กรม 8, กรม 18 รวมเป็น กรม 7 มี 3 กองพัน คือ ร.7 พัน.1, 2 ตั้งที่นครสวรรค์ ร.7 พัน.3 ตั้งที่ พิษณุโลก กรม ป.6 กรม ป.7 รวมเป็น กรม ป.4 มี 2 กองพัน คือ พัน.1,2 ตั้งที่นครสวรรค์ กรมทหารพรานเข้าใจว่ายกเลิกในปีนี้
           ปี พ.ศ. 2475 ได้เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ มีการยุบหน่วยทหารเป็นการใหญ่ พล.6 ยุบเป็นจังหวัดทหารบกนครสวรรค์ กองพันอันเป็นกำลังรบต่าง ๆ คงขึ้นตรงต่อ ผู้บังคับการที่กรุงเทพ ฯ ขณะนั้นมี ร.พัน 28 (ยุบจาก ร.7 พัน.1,2) และ
ป.พัน.7 (แปรสภาพ จาก ป.7 พัน.1) และ ป.พัน.8 (แปรสภาพจาก ป.7 พัน.2)
           ปี พ.ศ.2476 ป.พัน.8 ย้ายไปจังหวัดปราจีนบุรี คงเหลือ ร.พัน 28 และ ป.พัน.7 เป็นกำลังรบอยู่ที่นครสวรรค์ และเปลี่ยนแปลงใหม่ คือ ให้ทั้ง 2 หน่วย ขึ้นตรงต่อ จทบ.น.ว. (หน่วยกำลังรบอื่น ๆ ขึ้นตรงกับ จทบ.นั้น ๆ ด้วย)
           ปี พ.ศ.2478 ได้ตั้งมณฑลทหารบกที่ 4 ขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จทบ.ที่ขึ้นกับ มทบ.4 ก็คือ จทบ.ช.ม., จทบ.ล.ป., จทบ.อ.ต. และ จทบ.พ.ล.
           ปี พ.ศ.2482 การจัดหน่วยคงเป็นไปตามเดิมคือ จทบ.ต่าง ๆ ในภาคเหนือขึ้นกับ มทบ.4(นครสวรรค์) ทั้งสิ้น และ กองทัพต่าง ๆ ก็ขึ้นกับ จทบ.ในภาคเหนือ เช่น จทบ.ช.ม. มี ร.พัน.31,จทบ.ล.ป. มี ร.พัน.30 จทบ.พ.ล.มี ร.พัน.10
           ปี พ.ศ.2483 พ.อ.หลวงเสนาณรงค์ เป็น ผบ.มทบ.4 ในปีนี้เอง มทบ.4 ย้ายจากฝั่ง ตะวันตกมาอยู่ที่ฝั่งตะวันออก
ค่ายจิระประวัติปัจจุบัน) และ ได้เริ่มตั้งกองทหารสื่อสาร มทบ.4 และ มทบ.4 นี้ ขึ้นกับกองทัพบก มีหน่วยขึ้นตรงคือ จทบ.หัวเมืองกองทัพบก มีหน่วยขึ้นตรง คือ จทบ.หัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดเช่นเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในปลายปี พ.ศ.2483 เกิดกรณีพิพาท อินโดจีน มีทหารกองพันต่าง ๆของ มทบ.4 ได้ออกปฏิบัติราชการสนาม ได้ผลเป็นอย่างดียิ่ง เช่น ร.28,29,30 และ 31 ตลอดจน ป.พัน.10
วันที่ 2 ธ.ค.2484 พ.อ.หลวงหาญสงคราม (ฟ้อนสุวรรณไศละ) เป็น ผบ.มทบ.4 ได้รับคำสั่งให้จัดกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ของ มทบ.4 ออกปฏิบัติการรบในสงครามอินโดจีน และสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นรูปกองพลที่ชื่อว่า " กองพลที่ 4 " ในขั้นแรกจัดตั้ง บก.พล.4 ที่เชียงราย และโยกย้ายต่อไปหลายแห่ง หน่วยพล.4 อันเป็นส่วนหนึ่งของ ท.พายัพ (หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ) สามารถยึดได้แคว้นหลวงพระบาง และส่งกำลังรุกเข้าไปใน รัฐฉาน(เชียงตุง) สามารถยึดได้ดินแดนเป็นเมืองพระยาคเป็นกองพลที่ปฏิบัติอยู่ร่วม และเคียงบ่าเคียงไหล่กองพลที่ 3 และกองพล ม.
           ปี พ.ศ.2485, 2486, 2487 กองพลที่ 4 ปฏิบัติการรบอยู่ในสหรัฐไทยเดิม ตลอดทั้ง 3 ปี ในปี พ.ศ.2486 ผบ.พล.เปลี่ยนจาก พ.อ.หลวงหาญสงคราม เป็น พล.ต.หลวงเกรียงเดช พิชัย (สุข สุขะนิล) และ ปี พ.ศ.2488 เป็น พล.ต.หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ สุขะวาที)
           ปี พ.ศ.2488 เสร็จสงครามมหาเอเชียบูรพา ผบ.พล.ร.4 พล.ต. หลวงสุทธิสารรณกร เป็นผู้นำกองพล กลับที่ตั้ง จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนหน่วยกองพันอื่น ๆ คงกลับเข้าที่ตั้งเดิม มี ร.31 เชียงใหม่, ร. 30 ลำปาง, ร.29 พิษณุโลก, ร.28 นครสวรรค์ , ป.พัน 11 (ตั้งสมัย
สงคราม ครั้งนี้กลับเข้าที่ตั้งลำปาง) ป.พัน.10 นครสวรรค์ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการรวมตำแหน่ง ผบ.พล.4 และ ผบ.มทบ.4 เข้าด้วยกัน หน่วยทหารในภาคเหนือทั้งสิ้นคงขึ้นกับ พล.4 และ มทบ.4 (นครสวรรค์) นอกจากนั้นยังมีกองทหารสื่อสาร, กองพันทหารช่างที่ 4 กองพาหนะ กองสัตว์รักษ์ ฯลฯ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วย
           ปี พ.ศ.2490, 2491 การจัดกำลังหน่วยต่าง ๆ คงเช่นเดิม หากแต่งตั้งเป็นกรม ร.ขึ้น คือ ร.4 และ ร.14 และเปลี่ยนชื่อใหม่ ดังนี้ ร.พัน.28 เป็น ร.4 พัน.1 ร.พัน.29 เป็น ร.4 พัน.3 เป็นต้น ร.4 ตั้งอยู่ที่พิษณุโลก ร.14 ตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง ปืนใหญ่มี 2 กองพัน คือ ป.4 พัน.1 นครสวรรค์ ป.4 พัน.2 ลำปาง แล้วย้ายไปอยู่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2490 สรุปคือ มีทหารราบ 4 กองพัน และ ทหารปืนใหญ่ 2 กองพัน ทหารช่าง 1 กองพัน กองสื่อสาร กองพาหนะ กองสัตว์รักษ์ กองเสนารักษ์
           ปี พ.ศ.2492, 2493 พล.4 ขึ้นการบังคับบัญชากับ ทภ.ตั้งอยู่กรุงเทพ ฯ (สวนพุดตาล) (พล.1,พล.4 ขึ้นกับ ทภ.1) ปี พ.ศ.2493 หน่วยได้ตั้งกองทัพที่ 3 ขึ้นที่ จ.พิษณุโลก พล.4 ขึ้นตรง ทภ.3 และ ได้ตั้ง พล.7 และ มทบ.7 ขึ้นที่ลำปาง การจัดหน่วยดังนี้ พล.4 และ มทบ.4(นครสวรรค์) พล.7 และ มทบ.7 (ลำปาง) ต่างก็ขึ้นกับ ท.3(พิษณุโลก) หน่วยขึ้นตรง พล.4 และ มทบ.4 มี ร.4 พัน.1(นครสวรรค์) ร.4 พัน.2(อยุธยา- นครสวรรค์) ร.4 พัน.3 (พิษณุโลก) ม.พัน.9 (อุตรดิตถ์) หน่วยขึ้นตรง พล.7 และ มทบ.7 มี ร.7 พัน.1 (เชียงใหม่) ร.7 พัน.2 (ลำปาง) ร.7 พัน.3 (อุบลราชธานี – ลำปาง – เชียงราย) ป.พัน.7 (เชียงใหม่) ส่วนกองพาหนะ กองสื่อสาร กองพันทหารช่าง กองสัตว์รักษ์ ขึ้นกับ ท.3
           ปี.พ.ศ.2494 การจัดหน่วยในภาคเหนือมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือ ได้จัดให้หน่วย ขึ้นตรง พล.4 และ มทบ.4 บางหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพที่ 3 เช่น ช.พัน.4 เป็น ช.พัน.3 ส.พล.4 เป็น ส.ท.3 กอง ท. พล.4 เป็นกอง ท.3 และได้ตั้งหน่วยสรรพาวุธขึ้นที่บางปราบ นครสวรรค์ให้ชื่อว่า กอง สพบ.ท.3 ฯลฯ ในปีนี้เองทหารบางส่วนที่นครสวรรค์ได้จัดกำลัง กองผสม (ร.4 พัน.1,ป.พัน.4,ช.พัน.4) ภายใต้ ้การนำของ พ.ท.เชื้อ สุขี ผบ.ผส.4 ร.พัน.1 ได้รับคำสั่งให้นำกำลังไปปราบจลาจลที่กรุงเทพ ฯ ด้วยความเรียบร้อย
           ปี พ.ศ.2498 หน่วยในโครงการช่วยเหลือสหประชาชาติได้ขยายขึ้น เพื่อให้เพียงพอ กับอาวุธและยานพาหนะ ได้รับตามโครงการ มีการจัดหน่วยในรูปการผสมขึ้นตรงต่อกองทัพ ที่ 3 ทั้งสิ้น
           ปี พ.ศ.2499 ได้ย้ายกองพลที่ 4 จากนครสวรรค์ มาตั้งที่พิษณุโลก และ ได้มีการ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยแยกส่วนกำลังรบกับส่วนภูมิภาคออกจากกันโดยเด็ดขาด ส่วนภูมิภาคมีการจัดเป็นภาคทหารบกที่ 3 ขึ้นต่อกองทัพบก มีหน่วยขึ้นตรงคือ มทบ.4 (นครสวรรค์) มทบ.7(ลำปาง) ส่วนกำลังรบตั้งแต่เป็น พล.4 ขึ้นตรงต่อกองทัพบก มีหน่วยขึ้นตรงคือ ผส.4,ผส.7 เป็นกำลังรบหลัก นอกจากนั้นยังมีหน่วยสนับสนุนคือ ร้อย.บก.พล.4, ม.พัน.7, ม.พัน.9(ยานเกราะ), ช.พัน.4,ส.พล.4, สพบ.4, พัน.ขส.พล.4 (ต่อมายุบเป็น ร้อย.ขส.ทบ.)
           ปี พ.ศ.2501 พล.4 ขึ้นตรงต่อ ภทบ.3 โดยเปลี่ยนชื่อ ภทบ.3 เป็นกองทัพภาคที่ 3
           ปี พ.ศ.2511 - 2513 กองพลที่ 4 ได้จัดกำลัง 394 ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บริเวณพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, เลย)
           ปี พ.ศ. 2517 - 2522 กองพลที่ 4 ได้จัดหน่วยเฉพาะกิจ กองพลที่ 4 ปราบปราม ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์พื้นที่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา ได้ส่งกำลังเข้าปฏิบัติการรบใน พตท.1617 อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และกองกำลังเฉพาะกิจ 242 อ.แม่สอด จ.ตาก
           ปี พ.ศ.2522 - 2524 กองพลที่ 4 ได้จัดหน่วยผสมพลเรือนตำรวจทหาร 2324 ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย, พะเยา ได้ส่งกำลังรบหลัก ปฏิบัติการในยุทธการเขาค้อ ในเขต อ.หล่มสัก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
           วันที่ 16 กันยายน 2525 จนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นกองพลทหารราบที่ 4
           วันที่ 2 เมษายน 2526 - 30 ก.ย.2530 กองพลทหารราบที่ 4 ได้จัดตั้งที่บัญชาการ กองพลทหารราบที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ส่วนแยกที่ 1 ควบคุมบังคับบัญชา พตท.31,พตท.34 และ พตท.35 ทำการปราบปราม ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่รับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือ (ต่อมา พตท.31 ,พตท.34 ,พตท.35 แปรสภาพเป็น ชค.31,34 และ ชค.35 ตามลำดับ) และ ชค.31 ยุบเลิกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2530
           วันที่ 27 มกราคม 2531 - 31 มีนาคม 2534 กองพลทหารราบที่ 4 ได้จัดตั้ง กองบัญชาการควบคุมกองพลทหารราบที่ 4 เพื่อควบคุมบังคับบัญชาหน่วยในการ ป้องกันอธิปไตยของประเทศกรณี บ.ร่มเกล้า อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก บริเวณ ชายแดนไทย - สปปล. ผลการปฏิบัติสามารถควบคุมสถานการณ์และสร้างความมั่นคง ให้กับพื้นที่ตามแนวชายแดนได้เป็นอย่างดี วันที่ 1 ตุลาคม 2538 กองพลทหารราบที่ 4 จัดตั้งกองกำลังนเรศวรและ กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในภาค 3 ส่วนแยก 1 เพื่อควบคุมบังคับบัญชา หน่วยในการป้องกันอธิปไตยและรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่ตามแนวชายแดน ด้านตะวันตกในเขต 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก,จังหวัดแม่ฮ่องสอน, จังหวัดเชียงใหม่,จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา และ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2543 จนถึงปัจจุบัน ทภ.3 ได้ปรับพื้นที่รับผิดชอบของ กองกำลังนเรศวรใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการแผนป้องกันประเทศ โดยให้กองกำลังนเรศวร รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกเพียง 2 จังหวัด คือ จังหวัดตาก และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันสถาปนาหน่วย
            จากการที่หน่วยได้จัดกำลังเป็นรูปกองพลขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า " กองพลที่ 4 " เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2484 ที่เชียงราย เพื่อปฏิบัติการรบ ในสงครามอินโดจีน และสงคราม มหาเอเชียบูรพา ซึ่ง กองพลที่ 4 สามารถยึดพื้นที่ในเขตรัฐฉานประเทศพม่า ได้แก่ เมืองโก เมืองเลน เมืองพยาค เมืองเชียงลับ เมืองยู้ และเมืองเสี้ยว นอกจากนี้ ยังสามารถยึดพื้นที่บริเวณฝั่งขวา ของแม่น้ำหลายได้สำเร็จ หน่วยจึงได้ถือเอาวันที่ 2 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนาหน่วย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น